วันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557


ที่มาของเพลงพื้นบ้าน

ที่มาของเพลงพื้นบ้าน
                เพลงพื้นบ้านสันนิษฐานมีมาตั้งแต่อาณาจักรสุโขทัย ตามตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์อ้างว่า เพลงปรากฏในสมัยสุโขทัยรัชกาลพ่อขุนรามคำแหง โดยมีข้อความว่า อันราชประเพณีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยทรงประพฤติมาแต่ก่อน ถ้าทอดพระเนตรชักโคมลอยแล้ว ก็เสด็จทางเรือพระที่นั่งไปถวายดอกไม้เพลิง บูชาพระรัตนตรัยทุกพระอารามหลวง บรรดาที่อยู่ริมฝั่งนทีวนรอบกรุงทั้งทรงทอดบังสุกุลจีวรทรงพระราชอุทิศถวายพระภิกษุสงฆ์อันทรงปรารถนาด้วย แล้วก็ทรงทอดพระเนตร ทรงฟังประชาชนหญิงร้องรำเล่นนักขัตฤกษ์ เป็นการมหรสพต่างๆ สำราญราชหฤทัยทั้งสามราตรี” 
                ภิญโญ จิตต์ธรรม (2516 : 9) กล่าวถึงที่มาของเพลงพื้นบ้านว่า เพลงพื้นบ้านเกิดจากประเพณีทางศาสนาหรือวัฒนธรรมของชุมชนในถิ่นหรือเขตนั้นๆ นับตั้งแต่ชุมชนที่ห่างไกลความเจริญไปจนถึงชุมชนที่เจริญแล้ว  มีลักษณะพิเศษตามความนิยมของถิ่นนั้นๆ เพลงพื้นบ้านร้องสืบต่อกันมาโดยการจำ ผู้บอกจะบอกต่อกันหลายช่วงอายุคน รูปแบบหลากหลายแตกต่างแต่ละท้องถิ่นต่อมาค่อยมีรูปแบบที่ชัดเจน มีสัมผัสคล้องจอง ท่วงทำนองมีลักษณะสัมพันธ์กับธรรมชาติของท้องถิ่นนั้น ในการร้องจะมีดนตรีท้องถิ่นให้จังหวะด้วย
                จารุวรรณ ธรรมวัติ (ม.ป.ป. : 1 ) กล่าวถึงที่มาของเพลงพื้นบ้านว่า เพลงพื้นบ้านเกิดจากชุมชนที่ถ่ายทอดปรัชญาความนึกคิดของชาวบ้านเนื้อหาบอกถึงความรัก ความห่วงใย สอนตำหนิ โกรธแค้น เศร้าสร้อยหรือประท้วงสังคม ฉะนั้นการศึกษาเพลงชาวบ้านจึงเป็นการศึกษาอารมณ์แก่นแท้ของมนุษย์อันเกี่ยวกับชีวิตและสังคม
                สรุปได้ว่า เพลงพื้นบ้านมีมาตั้งแต่อาณาจักรสุโขทัยตามหลักฐานในตำหรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์เพลงพื้นบ้านเป็นวัฒนธรรมของชุมชนนั้นๆ เกิดจากประเพณี พิธีกรรมหรือเกิดจากการละเล่นเพื่อความบันเทิงใจในงานนักขัตฤกษ์ เช่น ตรุษสงกรานต์ งานกฐิน เป็นต้น รูปแบบไม่แน่นอนเนื้อหาบอกถึงความรัก ความดีใจ ความโศกเศร้า ฯลฯ


พรทิพย์ ซังธาดา.(2538). วรรณกรรมท้องถิ่น.กรุงเทพ, สุวีริยาสาส์น, 2538.11-18หน้า.